ความเป็นมาของกีฬาเทเบิลเทนนิส
จากการศึกษาค้นคว้าไม่มีหลักฐานปรากฎแน่ชัดว่าเทเบิลเทนนิสมีถิ่นกำเนิดหรือที่มาจากที่ใดทั้งในสมัยโรมันหรือสมัยกรีกเหมือนเช่นกีฬาประเภทอื่น
ซึ่งรัสเซียเองก็เคยอ้างว่าเป็นผู้คิดค้นการเล่นมาก่อนใคร
ซึ่งอังกฤษก็อ้างว่าตนเป็นต้นกำเนิดเช่นกัน
แต่ก็ไม่มีผู้ใดสามารถแสดงหลักฐานอ้างอิงได้อย่างชัดเจนหรือสามารถคัดค้านแต่ประการใดได้
อย่างไรก็ตามจากหนังสือประวัติศาสตร์กีฬาของแฟรงค์
มอนเก (Frank Monke) ได้สันนิษฐานเกี่ยวกับประวัติเทเบิลเทนนิสไว้ 2
ประการ คือ
1 อาจเป็นกีฬาในร่มของลอนเทนนิส
ซึ่งเริ่มเล่นครั้งแรกในรัฐแมสซาชูเซตส์ สหรัฐอเมริกา ราวศตวรรษที่ 19 (ค.ศ.
1890)
2 สันนิษฐานว่าเริ่มเล่นในอินเดียโดยนายทหารชาวอังกฤษซึ่งไปประจำการอยู่ที่อินเดียได้เคยเล่นกีฬาเทเบิลเทนนิสเป็นกีฬากลางแจ้งมาก่อน
ด้วยการเล่นบนโต๊ะ และใช้สมุดกั้นแทนตาข่าย (บางฉบับระบุว่าใช้ไม้กระดานแทนตาข่าย)
และยังมีอีกความเห็นหนึ่งว่า เกิดขึ้นครั้งแรกในประเทศแอฟริกาใต้
หรือบางความเห็นว่าเกิดขึ้นครั้งแรกในประเทศจีน
กล่าวโดยสรุปคือ ประวัติเทเบิลเทนนิส
ไม่สามารถทราบแน่ชัดได้ว่า
ใครเป็นผู้คิดค้นหรือประเทศใดเป็นต้นกำเนิดของกีฬาเทเบิลเทนนิส
แต่มีข้อบันทึกหลักฐานการโฆษณาเกี่ยวกับอุปกรณ์การเล่นกีฬาเทเบิลเทนนิสชาย
หรือการโฆษณาเครื่องกีฬาเทเบิลเทนนิสในแมกกาซีนของประเทศอังกฤษ ที่ชื่อว่า British
Sports Catalogs Advertised Table Tennis Equipment ในปี
ค.ศ. 1880 ซึ่งสันนิษฐานกันว่า
ชาวอังกฤษน่าจะเป็นผู้คิดค้นการเล่นกีฬาเทเบิลเทนนิสขึ้น
และได้เล่นกีฬาเทเบิลเทนนิสเป็นกีฬาในร่มของเทนนิสมาตั้งแต่ปี ค.ศ. 1850 ด้วย
ซึ่งสมัยนั้นเรียกว่า Gossima และใช้ลูกบอลทำด้วยไม้คอร์กหรือยางแข็งซึ่งแข็งเกินไป
ถ้าไปถูกกระจกก็จะทำให้กระจกแตก
โดยเกมกีฬาชนิดนี้ได้รับความนิยมและเป็นที่ยอมรับกันโดยทั่วไป นับตั้งแต่ปี ค.ศ. 1890 เป็นต้นมา
อังกฤษก็เริ่มปรับปรุงการเล่นเทเบิลเทนนิสโดยมีพ่อค้าทำลูกเทเบิลเทนนิสที่ทำด้วยยางหรือไม้คอร์กแล้วใช้ผ้าหุ้มไว้อีกชั้นหนึ่ง
เพื่อไม่ให้ลูกเทเบิลเทนนิสทำความเสียหายกับโต๊ะ
และเพื่อให้ลูกเทเบิลเทนนิสหมุนได้ดีขึ้นด้วย จนกระทั้งปี ค.ศ. 1902 วิศวกรชาวอังกฤษชื่อ
นายเจมส์ กิ๊บบ์ (Jame Gibb) ได้คิดลูกเทเบิลเทนนิสซึ่งเป็นลูกบอลเซลลูลอยด์
(Celluloid Balls) ซึ่งมีคุณสมบัติและสัดส่วนที่เหมาะสมชวนให้น่าเล่นยิ่งกว่าลูกบอลที่ทำมาจากไม้คอร์กหรือยางแข็ง
และในปรเดียวกันนั้นเอง อี.ซี.กู๊ด (E.C. Good) ชาวอังกฤษได้คิดค้นประดิษฐ์ไม้ตีขึ้นใหม่
โดยใช้แผ่นยางติดไว้ที่ด้านที่จะใช้ตีลูก
ทำให้ผู้ตีสามารถควบคุมทิศทางและน้ำหนักการตีลูกเทเบิลเทนนิสได้ดีกว่าเดิม
ซึ่งเขายังได้ทดสอบให้เห็นได้ด้วยการเป็นผู้ชนะเลิศเทเบิลเทนนิสของชาวอังกฤษในสมัยนั้นอีกด้วย
จึงทำให้ไม้ตีแบบใหม่และลูกบอลเซลลูลอยด์ได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก
เกมกีฬาเทเบิลเทนนิส จึงแพร่หลายไปอย่างรวดเร็วในประเทศต่าง ๆ และจากการพัฒนาปรับปรุงทั้งในส่วนของไม้ตี
และลูกเทเบิลเทนนิสที่ทำจากเซลลูลอยด์ ทำให้เวลาตีจะมีเสียงดัง ปิง (Ping) และเมื่อลูกตกกระทบกับพื้นโต๊ะจะมีเสียงดัง
ปอง (Pong) จึงเป็นที่มาของชื่อเรียกที่นิยมเรียกกันว่า
ปิงปอง (Ping-pong) ตามสียงที่เกิดขึ้นจนถึงปัจจุบัน
ประวัติกีฬาเทเบิลเทนนิสในประเทศไทย
ประวัติกีฬาปิงปองในประเทศไทย
คำว่า เทเบิลเทนนิส
ไม่เป็นที่รู้จักแพร่หลายนัก แต่จะรู้จักกันดีในชื่อ กีฬาปิงปอง
โดยไม่มีหลักฐานอ้างอิงปรากฏว่าเข้าสู่ประเทศไทยเมื่อใดแน่นอน
และใครเป็นผู้นำเข้ามา แต่ปรากฏว่ามีการเรียนการสอนมานานกว่า 30 ปี ตั้งแต่ในปี
พ.ศ. 2500
ประเทศไทยได้มีการจัดตั้งสมาคมเทเบิลเทนนิสสมัครเล่นแห่งประเทศไทยขึ้นอย่างถูกต้องตามกฎหมาย
จัดให้มีการเรียนการสอนอย่างทั่วถึงตลอดหลักสูตรการเรียนตามโรงเรียนต่าง ๆ
ทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาค
จนถึงปัจจุบันได้มีการบรรจุกีฬาเทเบิลเทนนิสไว้เป็นวิชาบังคับในระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนต้น
ในส่วนของประชาชนโดยทั่วไปนิยมเล่นกีฬาเทเบิลเทนนิสเพื่อเป็นเกมนันทนาการ
เป็นการแข่งขัน เป็นการออกกำลังกาย
และเพื่อการพักผ่อนในช่วงว่างเว้นจากภารกิจตามหน้าที่ ซึ่งอาจกล่าวได้ว่า
กีฬาปิงปองเป็นที่นิยมเล่นสำหรับประชาชนทุกเพศทุกวัย